A-Level คืออะไร
A-Level ย่อมาจาก Applied Knowledge Level ซึ่งก็คือข้อสอบวิชาสามัญ และนำมาสอบใน TCAS66 เป็นปีแรก เป็นการสอบวัดความรู้เชิงวิชาการ ที่ถูกจัดหมวดหมู่วิชาสอบใหม่ เพื่อใช้ในการยื่นระบบ TCAS รอบต่างๆ เน้นวัดความรู้ม.ปลายจากบทเรียนที่เจอในห้องเรียนและนำมาประยุกต์ใช้ โดย A-Level นั้นมีการกำหนดขอบเขตของข้อสอบว่าจะไม่ออกเนื้อหาเกินหรือนอกเหนือจากหลักสูตรที่เรียนมาในชั้น ม.4 - ม.6 ในการสอบ A-Level นักเรียนจะมีเวลาสอบวิชาละ 1 ชั่วโมง 30 นาที คะแนนเต็มของแต่ละวิชาคือ 100 คะแนน และจะมีค่าสมัครสอบ A-Level วิชาละ 100 บาท โดยการจัดสอบ A-Level จะเป็นการจัดสอบด้วยกระดาษเท่านั้น ซึ่งจะใช้โรงเรียนเป็นสนามสอบและ จะไม่มีการสอบโดยใช้คอมพิวเตอร์
ผลสอบ A-Level เก็บไว้ได้นานเท่าไหร่
ผลคะแนนสอบ A-Level จะมีอายุ 1 ปีเท่านั้น และต้องใช้ผลคะแนนภายในปีการศึกษานั้นๆ หากสอบในปีการศึกษาอะไรก็ต้องใช้ยื่นในปีการศึกษานั้นเพราะผลคะแนนสอบ A-Level นั้นไม่สามารถเก็บไว้ใช้ในปีการศึกษาถัดไปได้นั่นเอง
A-Level ใช้ใน TCAS รอบอะไรได้บ้าง
คะแนน A-Level นั้นมีความสำคัญมากๆ เลย จาก TCAS มีทั้งหมด 4 รอบแต่ใช้คะแนน A-Level ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดยื่นเข้ามหาวิทยาลัยไปแล้วถึง 3 รอบ ได้แก่ TCAS รอบ 2 (โควตา), รอบ 3 (Admission) และรอบ 4 (รับตรงเก็บตกสุดท้าย) โดยเฉพาะใน TCAS รอบที่ 3 ซึ่งเป็นรอบที่แต่ละมหาวิทยาลัยนั้นจะมีการเปิดจำนวนที่นั่งเยอะที่สุด ถ้าสามารถวางแผนอ่านหนังสือและดูเกณฑ์ที่กำหนดครบก็สามารถที่จะทำคะแนน A-Level ให้ได้ดีเกินเกณฑ์ ก็จะส่งผลให้มีตัวเลือกคณะและสาขาในมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้มากขึ้น
รายวิชาสอบ A-Level
A-Level มีวิชาให้เลือกสอบได้สูงสุดถึง 10 วิชา นั่นก็คือ วิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 (พื้นฐาน+เพิ่มเติม) , วิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 (พื้นฐาน) , วิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ , วิชาฟิสิกส์ , วิชาเคมี , วิชาชีววิทยา , วิชาภาษาไทย , วิชาสังคมศาสตร์ , วิชาภาษาอังกฤษ , วิชาภาษาต่างประเทศอื่นๆ ซึ่งวิชาภาษาต่างประเทศนั้นมีให้เลือกสอบ 6 ภาษาด้วยกัน
- วิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 (พื้นฐาน + เพิ่มเติม) ได้แก่ปรนัย 25 ข้อ และ อัตนัย 5 ข้อ รวมทั้งหมด 30 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน
- วิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 (พื้นฐาน) ได้แก่ปรนัย 25 ข้อ และ อัตนัย 5 ข้อ รวมทั้งหมด 30 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน
- วิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ได้แก่ปรนัย 26 ข้อ และ อัตนัย 4 ข้อ รวมทั้งหมด 30 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน
- วิชาฟิสิกส์ ได้แก่ปรนัย 25 ข้อ และ อัตนัย 5 ข้อ รวมทั้งหมด 30 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน
- วิชาเคมี ได้แก่ปรนัย 30 ข้อ และ อัตนัย 5 ข้อ รวมทั้งหมด 35 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน
- วิชาชีววิทยา ได้แก่ปรนัย 35 ข้อ และ อัตนัย 5 ข้อ รวมทั้งหมด 40 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน
- วิชาภาษาไทย ได้แก่ปรนัย 5 ตัวเลือก รวมทั้งหมด 50 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน
- วิชาสังคมศาสตร์ ได้แก่ปรนัย 5 ตัวเลือก รวมทั้งหมด 50 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน
- วิชาภาษาอังกฤษ ได้แก่ ทักษะการฟังและการพูด (Listening and Speaking Skills) 20 ข้อ, ทักษะการอ่าน (Reading Skill) 40 ข้อ และทักษะการเขียน (Writing Skill) 20 ข้อ รวมทั้งหมด 80 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน
- วิชาภาษาต่างประเทศ (ฝรั่งเศส / เยอรมัน / จีน / ญี่ปุ่น / บาลี / เกาหลี) ได้แก่ปรนัย 4 ตัวเลือก รวมทั้งหมด 50 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน ต่อ 1 ภาษา
ข้อควรรู้ :
- A-Level วิชาภาษาต่างประเทศทั้ง 6 วิชา (ฝรั่งเศส / เยอรมัน / จีน / ญี่ปุ่น / บาลี / เกาหลี) สามารถเลือกสมัครสอบได้เพียงหนึ่งภาษาเท่านั้นเพราะจัดสอบในวันและเวลาเดียวกัน
- A-Level รหัสวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และรหัสวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 สามารถเลือกสมัครสอบได้ทั้ง 2 วิชา เพราะสอบคนละเวลากัน
ใครบ้างที่ต้องสอบ A-Level
- นักเรียนชั้น ม.6 หรือเทียบเท่าขึ้นไป
- คนที่ไม่มีคะแนน TGAT/TPAT ไม่ว่าจะลืมสมัครสอบหรือคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ อย่าเพิ่งไม่หมดหวังไป ให้รีบเตรียมตัวสมัครสอบ A-Level ไว้ได้เลย เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีกำหนดเกณฑ์หลายรูปแบบ บางมหาวิทยาลัยอาจจะมีการใช้คะแนน A-Level ด้วยหรือบางมหาวิทยาลัยกำหนดใช้เฉพาะคะแนน A-Level อย่างเดียวเท่านั้นก็มีเช่นกัน
- คนที่จะยื่น กสพท. สำหรับใครที่ต้องการจะยื่น 4 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ และเภสัชศาสตร์ จะพลาดการสมัครสอบ A-Level ไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะนอกจากต้องใช้คะแนน TPAT1 หรือ คะแนนวิชาเฉพาะแพทย์ในการยื่นแล้ว ยังต้องใช้ คะแนน A-Level อีก 7 วิชาในการคัดเลือกอีกด้วย ได้แก่ วิชาภาษาไทย, วิชาภาษาอังกฤษ, วิชาสังคมศาสตร์, วิชาฟิสิกส์, วิชาเคมี, วิชาชีววิทยา และวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1
- คนที่จะยื่นสมัครรอบ Quota/Admission ใครที่กำลังจะยื่นสมัคร TCAS ในรอบที่ 2 (Quota) หรือ รอบที่ 3 (Admission) นอกจากจะใช้คะแนน TGAT/TPAT ในการสมัครแล้ว บางมหาวิทยาลัยยังคงกำหนดให้ใช้ A-Level อีกด้วย หรือบางมหาวิทยาลัยอาจจะใช้แค่คะแนน A-Level อย่างเดียวก็เป็นได้ ดังนั้นแนะนำให้ไปเปิดดูเกณฑ์การรับสมัคร ของมหาวิทยาลัยที่สนใจดูกันว่าจะต้องใช้คะแนน A-Level วิชาไหนบ้างแล้วจึงสมัครสอบตามเกณฑ์นั้นๆ
ขั้นตอนการเตรียมตัวให้พร้อมในการสอบ A-Level
- เลือกคณะที่สนใจและศึกษารายละเอียดเกณฑ์การใช้คะแนน A-Level
- ทบทวนเนื้อหาบทเรียนที่ได้เรียนมา เพื่อให้มีความรู้มากพอที่จะเข้าไปสอบ A-Levell ลองแบ่งเวลาวันละ 1-2 ชั่วโมงในการทบทวนบทเรียน และจดโน้ตในเรื่องที่สำคัญไว้
- ฝึกทำข้อสอบปีเก่าๆ เพื่อทำความคุ้นชินและรู้แนวทางของข้อสอบ
- เตรียมตัวสมัครสอบและเตรียมเอกสารให้พร้อม
- พักผ่อนให้เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม A-Level นั้นไม่บังคับและไม่จำเป็นจะต้องสอบทุกวิชา สามารถเลือกสมัครเฉพาะวิชาที่จะต้องใช้ก็พอ อย่างไรก็ตาม ยังมีบางคนยังไม่รู้ว่าคณะที่จะเข้า ต้องใช้วิชาอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นทุกคนจำเป็นที่จะต้องรู้เกณฑ์คะแนนของแต่ละคณะ สาขา และมหาวิทยาลัยที่ต้องการจะเข้ากันด้วย เพราะกำหนดเกณฑ์ของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้น ไม่เหมือนกัน จะได้เตรียมตัวได้อย่างถูกต้องและทันเวลา
สำหรับใครที่ต้องการเตรียมความพร้อมในการสอบ A-Level กำลังหาคอร์สเรียน หรือข้อสอบจำลองของ A-Level สามารถเข้ามาดูตัวช่วยเพิ่มเติมจาก Masterly ได้ที่ปุ่มด้านล่างเลย
เลือกดูข้อสอบจำลอง A-LEVEL แถม! วิดิโอเฉลย 1 ชั่วโมง คลิกเลย